KU Green Market Place (ตลาดนัดสีเขียว)
ตลาดนัดสีเขียวจัดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ.2564 จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.2565 บริเวณทางเดิน Cover Way โรงอาหารกลาง 1 เปิดให้บริการทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.00 น. จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้รับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practices : GAP เช่น ผัก ผลไม้ออแกนิค รวมถึงผักพื้นบ้านปราศจากเคมี และผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ไม้กวาดหญ้าขนตาช้าง ข้าวกล้องเกษตรอินทรีย์ หอมแดง ฯลฯ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการบริโภคผลผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพดี มีแนวทางการผลิตที่ดี และสามารถตรวจสอบถึงแหล่งที่มาย้อนหลังได้
นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะการณ์สินค้าเกษตรตกต่ำ ภัยพิบัติ โรคระบาด ฯลฯ ได้มีพื้นที่ระบายสินค้าในราคาที่เหมาะสม พร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยได้แก่ นมเกษตร และผลิตภัณฑ์จากศูนย์หนังสือ มก.
The Premium @ KU
The Premium @ Ku จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2565 บริเวณประตูงามวงศ์วาน 3 เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 09.00 – 19.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นแหล่งบูรณาการด้านวิชาการและผลงานวิจัยของนิสิต นักวิจัย และคณาจารย์จากคณะวิชา สถาบันและศูนย์วิจัยต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพสูงจากงานวิจัย ได้แก่ ข้าวโพดหวานไร่สุวรรณพันธุ์อินทรีย์ จากศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตรมก. นมเกษตร จากศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก. กาแฟ กุนเชียง ข้าวสารอินทรีย์จากเกษตรฟาร์ม เป็นต้น
KU Avenue
KU Avenue ให้บริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ และผลไม้ที่ได้รับการคัดเลือกคุณสมบัติที่ดีตามเกณฑ์มาตรฐานการจัดการร้านค้า ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยทางเลือกอาหารที่หลากหลายให้แก่นิสิต บุคลากร ประชาคมมก.รวมถึงประชาชนทั่วไปได้จับจ่ายใช้สอยกันมาอย่างต่อเนื่อง
เทศกาลอาหารเจ
สำนักงานทรัพย์สินดำเนินการจัดเทศกาลอาหารเจ (โครงการอิ่มบุญ อิ่มใจ อิ่มท้องกับเทศกาลอาหารเจ) มาอย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2559 จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.2565 จัดขึ้นในวันที่ 26 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 (รวม 9 วัน) เปิดให้บริการเวลา 07.00 – 18.00 น. ณ บริเวณโรงอาหารกลาง 1 และ 2 เพื่อเป็นแหล่งอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพให้แก่นิสิต บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ได้รับประทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์และส่วนประกอบที่มาจากสัตว์ทุกชนิด งดการปรุงอาหารด้วยผักที่มีกลิ่นฉุน อาทิเช่น กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย เป็นต้น อีกทั้งได้ประโยชน์ด้านสุขภาพ สามารถปรับร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุล ขับสารพิษ ของเสียต่างๆออกจากร่างกาย ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ เกิดความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนได้รับปริมาณอาหารทีเพียงพอและมีคุณภาพ ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม มีสุขภาพที่ดี สามารถเข้าถึงอาหารได้ตรงกับความต้องการ รวมทั้งได้รับพลังใจจากการปฏิบัติตัวอยู่ในศีล ส่งผลให้จิตใจอิ่มเอิบ เบาสบาย
สนับสนุนนมเกษตรฟรีไปกับโครงการ “Friday KU Milk Day”
สนับสนุนนมเกษตรแก่นิสิต บุคลากร ผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) กับโครงการ Friday KU Milk Day เมื่อโรคระบาดได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เชื่อมโยงหลายกรณีในกลุ่มคลัสเตอร์ ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงกับนิสิต บุคลากร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด มหาวิทยาลัยได้ประกาศให้คณะ ดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบ On –line พร้อมบุคลากรปฏิบัติงานจากที่พักของตนเอง (Work Form Home) เป็นหลัก และโรงเรียนต้องหยุดทำการเรียนการสอนก่อนกำหนดตามมาตรการของรัฐ ส่งผลกระทบต่อนมเกษตรกับปัญหานมล้นเกิน เนื่องจากโรงนมยังคงรับน้ำนมดิบอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมอบหลักการและนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนแก่ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจัดโครงการ Friday KU Milk Day ขึ้นเพื่อรณรงค์ให้นิสิต บุคลากร ประชาคมมก. ได้ดื่มนมดีมีคุณภาพฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนอาหาร และสุขภาพที่ดีต่อสู้กับโรคภัย โดยสนับสนุนนมเกษตรกว่า 5,000 ถุงต่อสัปดาห์ในทุกวันศุกร์ ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยในภาวการณ์แพร่ระบาดของโรค นิสิตหอพักภายในมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนได้ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าที่ยังคงเปิดบริการจำหน่ายอาหารให้แก่นิสิต บุคลากร และประชาคมมก. โดยสนับสนุนนมเกษตรทั้งสิ้น 290,987 ถุง
****************************************************************************
สนับสนุนไอศกรีม Soft Serve ฟรีแก่นิสิต นักเรียนโรงเรียนสาธิต
ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนไอศกรีม Soft Serve จากนมเกษตร แก่นิสิต และนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฟรี จำนวน 200 คนต่อวัน ณ The premium @KU เมื่อวันที่ 6 – 17 มิถุนายน 2565 , 27 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2565 สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับนิสิต และนักเรียนให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์นมเกษตรที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างเท่าเทียมจากการผลิตอย่างยั่งยืน
****************************************************************************
การป้องกันภาวะการณ์ขาดแคลนอาหารช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19)
โครงการ KU พารอด ร่วมด้วยช่วยกัน….ต้องพากันรอด
ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เพิ่มขึ้นสูงกว่า 10,000 คนต่อวัน สถานประกอบการบางส่วนต้องปิดให้บริการตามมาตรการของรัฐ ผู้ป่วยและผู้กักตัวในรูปแบบ Home isolation และ Community isolation ค่อนข้างมาก ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธาณสุขและแหล่งอาหารที่เพียงพอในช่วงภาวะขาดแคลนได้ จึงเกิดโครงการ “KU พารอด ร่วมด้วยช่วยกันต้องพากันรอด” โดยเริ่มเมื่อ 9 สิงหาคม – 6 กันยายน 2564 สอดรับกับโครงการอว.พารอด นำโดยรองอธิบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัชด ชมภูนิช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สิน นางปิยฉัตร ช่างเหล็กและทีมงานงานบริหารจัดการ สำนักงานทรัพย์สิน ช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนแก่ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย 22 ชุมชน 4 สถานสงเคราะห์ กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ภายในมหาวิทยาลัย และกลุ่มแท็กซี่บริเวณประตูงามวงศ์วาน 1 มูลค่าการสนับสนุนช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 92,600 บาท
****************************************************************************
กินกุ้งไทย สู้ภัยโควิด – 19
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดพื้นที่ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากภาวะการณ์สินค้าราคาตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ภัยพิบัติ รวมถึงโรคระบาดได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นิสิต บุคลากร ประชาคม มก. ได้บริโภคผลผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสามารถตรวจสอบถึงแหล่งที่มาย้อนหลังได้ โดยในปีพ.ศ.2564 ซึ่งในขณะนั้นการแพร่ระบาดลุกลามไปยังตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในสินค้ากุ้ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยและเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จัดเทศกาล “กินกุ้งไทย สู้ภัยโควิด – 19” โดยมีเกษตรกรที่ได้รับรองผลผลิต การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม Good Agriculture Practices : GAP ที่ได้มาตรฐานที่กำหนดจำนวน 4 กลุ่มเข้าร่วมจำหน่ายสินค้า ณ บริเวณโรงอาหารกลาง 2 ได้แก่กลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม และฉะเชิงเทรา จำหน่ายกุ้ง กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งก้ามกราม ในวันที่ 29 – 30 ธันวาคม 2563 จำหน่ายกุ้งได้จำนวน 8,960 กิโลกรัม นิสิต บุคลากร และประชาคมมก.ให้ความสนใจและซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้กับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยในการประชาสัมพันธ์ จำหน่ายผลผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพจากงานวิจัย – พัฒนาให้แก่ประชาคมมก. ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่คุณภาพจากฟาร์มหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ผัก – ผลไม้ออแกนิค ปลอดสารพิษจากมูลนิธิโครงการหลวง ข้าวโพดฝัก – น้ำนมข้าวโพดจากศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร เป็นต้น