ตลาดนัด KU Green Market Place (ตลาดนัดสีเขียว)
เทศกาลอาหารเจ (สำนักงานบริหารทรัพย์สิน)
สำนักงานทรัพย์สินดำเนินการจัดเทศกาลอาหารเจ (โครงการอิ่มบุญ อิ่มใจ อิ่มท้องกับเทศกาลอาหารเจ) มาอย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2559 จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.2565 จัดขึ้นในวันที่ 26 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 (รวม 9 วัน) เปิดให้บริการเวลา 07.00 – 18.00 น. ณ บริเวณโรงอาหารกลาง 1 และ 2 เพื่อเป็นแหล่งอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพให้แก่นิสิต บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ได้รับประทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์และส่วนประกอบที่มาจากสัตว์ทุกชนิด งดการปรุงอาหารด้วยผักที่มีกลิ่นฉุน อาทิเช่น กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย เป็นต้น อีกทั้งได้ประโยชน์ด้านสุขภาพ สามารถปรับร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุล ขับสารพิษ ของเสียต่างๆออกจากร่างกาย ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ เกิดความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนได้รับปริมาณอาหารทีเพียงพอและมีคุณภาพ ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม มีสุขภาพที่ดี สามารถเข้าถึงอาหารได้ตรงกับความต้องการ รวมทั้งได้รับพลังใจจากการปฏิบัติตัวอยู่ในศีล ส่งผลให้จิตใจอิ่มเอิบ เบาสบาย
เทศกาลอาหารเจ (ห้องอาหารสหโภชน์สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
โดยจำหน่ายอาหารเจเป็นประจำทุกปี จำหน่ายอาหารในราคา 20 – 50 บาท มีทั้งอาหารเจหลากหลายเมนู ขนมจีนน้ำพริกผัดพริกขิงโปรตีนเกษตร ยำเต้าหู้ทอดกรอบ ยากิโซบะ แกงส้มผักรวม ของทอดร้อน ๆ กรอบ ๆ อร่อย ซาลาเปาไส้โปรตีนเกษตร ไส้ถั่วดำ ไส้เผือก นมถั่วเหลือง และอื่น ๆ อีกเพียบ อย่าลืมแวะมาอุดหนุนกัน เปิดขายกันตั้งแต่ 07.30 – 13.30 น.
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน
เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีภาระกิจด้านบริการวิชาการแบบให้เปล่า โดยมุ่งเน้นด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพและการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และกําลังการผลิตของเกษตรกร ที่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีกิจกรรมในด้านมุ้งเน้นการช่วยผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยเกษตรกร เกษตรกรช่วยผู้บริโภค (KU USR)
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมต้นแบบที่ผสมผสานระหว่างจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร กับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายร่วมกันของกลุ่มอาชีพ สถาบันเกษตร ครูอาชีพ และประชาชนทั่วไป ไม่เพียงช่วยเหลือเกษตรกร ในด้านการสร้างรายได้ยังช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรมจากผู้ผลิต เป็นช่องทางในการฝึกทักษะและให้องค์ความรู้นวัตกรรมและคำปรึกษาในการพัฒนาสินค้าเกษตร การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ปี 2563-2566 จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 122 ผลจากการจัดกิจกรรม เดือนมกราคม 2565 – เดือนกันยายน 2565 มีการดำเนินงานมาแล้วจำนวนทั้งสิ้น 74 ครั้ง มีรายรับจากการดำเนินกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 3,534,201 บาท มีผู้รับบริการรวมทั้งสิ้น 11,017 คน มีเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 16 ราย ซึ่งกระจายในพื้นที่กว่า 10 ชุมชน นอกจากนี้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวสามารถขยายช่องทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าในโอกาสต่างๆ เช่น กิจกรรมการจำหน่ายสินค้าของเรือนเกษตรอภิรมย์ คณะเกษตร กำแพงแสน การทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทเอกชนต่างๆ ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็นจำนวนมากและมีรายการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มตลาดทั่วไป และกลุ่ม Modern Trade เป็นต้น
ผลลัพธ์ด้านชุมชน และสังคม เกิดเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานต่างๆ ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับจำหน่ายในโอกาสต่อไป อาทิ การนำผลผลิตกล้วยน้ำว้าจากชุมชนบ้านหนองไม้งาม ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยหนึบของกลุ่ม YSF การนำผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรจากอำเภอห้วยกระเจา นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการผลิต/การทำการเกษตรระหว่างกลุ่ม อาทิ การนำผักกูกจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนปันสุข ต.ห้วยขวาง มาขยายปลูกให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองไม้งาม ต.ทุ่งบัว เป็นต้น ส่งผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนาการด้านการผลิตที่ตอบโจทย์อาหารปลอดภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการผลิตของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตทั้งในระบบ GAP และระบบ อินทรีย์ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขตั้งแต่แรกของการเข้าร่วมกิจกรรมนี้
ผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนในพื้นที่ดำเนินการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพื้นที่ใกล้เคียง ตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ในพื้นที่ไข่แดง และไข่ขาว กว่า 20 ชุมชน เช่น ชุมชนในพื้นที่ตำบลทุ่งบัว ตำบลห้วยขวาง ตำบลห้วยม่วง ตำบลหนองงูเหลือม พื้นที่ชุมชนในเขตอำเภอนครชัยศรี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ขยายในการพัฒนาด้านการส่งเสริมการเกษตร เช่น กลุ่ม Start Up จากอำเภอสองพี่น้อง หรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรนำผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยเข้าร่วมจำหน่ายในกิจกรรมดังกล่าว เช่น ผลผลิตพืชผักปลอดภัยจากกลุ่มเกษตรกรตำบลทุ่งบัว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวอินทรีย์เช่น น้ำมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวนมสด จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนปันสุข ตำบลห้วยขวาง ผลผลิตมันเทศญี่ปุ่น เมล่อน จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้นนอกจากนี้ช่องทางการจำหน่ายยังขยายไปสู่ผู้บริโภคภายนอกที่ทราบข้อมูลของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรจากกิจกรรมต่างๆ ที่กลุ่มเข้าร่วม เช่น งานแถลงข่าวงานเกษตรกำแพงแสน การออกร้านจำหน่ายสินค้าในโอกาสต่างๆ ส่งผลให้เกิดการทำสัญญาซื้อขายสินค้าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีคำสั่งซื้อมันเทศญี่ปุ่นเฉลี่ยเดือนละ 7-10 ตัน ซึ่งหากสินค้าเกรดดี จะวางจำหน่ายที่ห้างแมรโคร Big-C และโลตัส แต่หากเป็นเกรดรองลงมาจะส่งจำหน่ายที่ตลาดไท เป็นต้น
ผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรปลอดภัยที่มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมมีการผลิตตามระบบ GAP อยู่ก่อนแล้วและเริ่มให้ความสนใจเรื่องการลดใช้สารเคมีในแปลงผลิตของตนเอง เนื่องจากส่วนใหญ่นั้นเริ่มมีอายุมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนด้านการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นดังนั้นจึงมีการนำองค์ความรู้เรื่องการใช้เชื้อไตรโครเดอร์มาในแปลงปลูกพืชหลังน้ำท่วมไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือนร้อน เช่นเกษตรกรในพื้นที่ตำบลทุ่งบัว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นต้น นอกจากนี้บางส่วนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีการลงพื้นที่แปลงของเกษตรกรเพื่อเก็บข้อมูลการผลิตตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่เกิด เพื่อนำมาหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันอีกครั้ง
ข้อมูลโดย www.eto.kps.ku.ac.th